การนอนหลับเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

Published on
11 Jan 2022
Contributors
แพทย์หญิง นันท์นภัส ปิยชัยเศรษฐ์
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต การวิจัยและการจัดการด้านสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Subscribe to our newsletter
Thank you! Your submission has been received!
Oops! Something went wrong while submitting the form.
สุขภาพการนอนหลับ (Sleep health) ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการทำให้ผู้คนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
การนอนหลับนั้นประกอบด้วย 2 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 
  1. เวลาที่ใช้ในการนอนหลับที่เพียงพอ คือ ในผู้ใหญ่วัยทำงานควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
  2. การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ (Sleep quality) คือ ความพึงพอใจของบุคคลในแง่มุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์การนอนหลับ การที่บุคคลรู้สึกตื่นตัวในตลอดวัน ความรู้สึกได้พักผ่อนหลังตื่นนอน และจำนวนครั้งที่ต้องตื่นในระหว่างคืน
การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ (Sleep quality) สามารถประเมินได้หลากหลายวิธี เช่น
  • การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography)
  • การใส่อุปกรณ์วัดการนอนหลับที่ข้อมือ (Actigraphy) หรือ
  • ตรวจคัดกรองเบื้องต้นโดย แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับฉบับภาษาไทย (Thai version of the Pittsburgh Sleep Quality Index, T-PSQI

การศึกษาในปัจจุบัน พบว่าความชุกของคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีในกลุ่มคนทำงานในหลายประเทศอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 แสดงให้เห็นถึงขนาดของปัญหาในเรื่องของคุณภาพการนอนหลับนั้น เป็นปัญหาที่พบได้ไม่แตกต่างกันในต่างภูมิภาคของโลก แม้ในแต่ละประเทศจะมีบริบททางสังคมที่แตกต่างกันก็ตาม โดยรูปแบบของอาการแสดงที่พบในผู้ที่มีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี คือ มักจะมีอาการตื่นมาแล้วไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า อ่อนเพลีย หรือง่วงนอนตอนกลางวันได้บ่อย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้เป็นระยะเวลานานจะในหลากหลายด้าน

ผลกระทบผู้ที่มีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีเป็นระยะเวลานาน

ได้แก่

  1. ผลกระทบต่อสุขภาพ ได้แก่ เกิดภาวะความดันโลหิตสูง มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และภาวะบกพร่องทางสมอง ส่งผลต่อความจำและการนึกคิดที่มีผลทำให้หลงลืม รู้สึกหงุดหงิดกระสับกระส่าย
  2. ผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน ได้แก่ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ สูญเสียความพึงพอใจในการทำงาน เนื่องจากความอ่อนล้าและความอ่อนเพลีย ขาดแรงบันดาลใจ รวมถึงมีความนึกคิดที่ลดลงจึงส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานและงานที่รับมอบหมายผิดพลาดมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่ทำงานเป็นกะมีโอกาสได้รับผลกระทบจากคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีสูงกว่าประชากรทั่วไปมากถึงร้อยละ 17-24

อีกทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการทำงานของผู้คนที่มีการทำงานที่บ้าน (Work from home) มากขึ้น แม้ประโยชน์ของการทำงานที่บ้านจะมีมากมายหลากหลาย แต่ปัญหาที่พบได้บ่อยคือ

การทำงานล่วงเวลาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน การเลิกงานที่ไม่ตรงต่อเวลา รวมถึงการจัดสถานที่ทำงานรวมอยู่ในบริเวณเดียวกับห้องนอน

ส่งผลให้ผู้คนหลงลืมถึงสุขภาพการนอนหลับที่มีคุณภาพ ดังนั้น หากท่านพบว่าตนเองมีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี ผู้เขียนขอเสนอ

แนวทางการแก้ไขเพื่อส่งเสริมสุขอนามัยการนอนหลับที่ดีขึ้น ดังต่อไปนี้ 
  1. เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลา และมีระยะเวลาการหลับเพียงพอ 
  2. ออกกำลังกายระหว่างวันอย่างสม่ำเสมอ 
  3. จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการนอนที่ดี เช่น จัดห้องนอนให้เงียบแยกกับสถานที่ทำงาน ห้องนอนควรมืดและมีอุณหภูมิที่เหมาะสม
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนนอน 
  5. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือสื่อสาร หรือการดูโทรทัศน์ก่อนนอน 
  6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารปริมาณมากก่อนนอน

จะเห็นได้ว่าหลักการเหล่านี้สามารถทำได้ง่ายและเริ่มได้ทันที เพื่อให้เกิดการนอนหลับอย่างมีคุณภาพและนำไปสู่ผลลัพธ์การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

2023 Health and Well-being Thailand • เจตน์ รัตนจีนะ • Jate Ratanachina. All rights reserved.